ประวัติและความเป็นมาครูภูมิปัญญาไทย
"ครูภูมิปัญญาไทย" ถือกำเนิดมาจากโครงการสรรหาและยกย่องครูภูมิปัญญาไทย ซึ่งเป็นโครงการของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้เริ่มศึกษาวิจัยข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำนโยบายส่งเสริมภูมิปัญญาไทยในการจัดการศึกษา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 และในปีต่อมาได้ดำเนิน “โครงการสรรหาและยกย่องครูภูมิปัญญาไทย” โดยมีแนวคิดเริ่มต้นจาก ดร.รุ่ง แก้วแดง เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (ในขณะนั้น) มีแนวคิดให้สร้างพื้นที่และสนับสนุนส่งเสริม “ครูภูมิปัญญาไทย” เพื่อให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของชาติ ทั้ง 3 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย (ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒) โดยเน้นให้ครูภูมิปัญญาไทย มีบทบาทถ่ายทอดองค์ความรู้ ในส่วนของการศึกษานอกระบบโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย เนื่องจากการศึกษาในระบบโรงเรียนมี “ครูและคณาจารย์” เป็นกำลังหลักในการจัดกระบวนการเรียนรู้อยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันมีครูภูมิปัญญาไทยที่ได้รับการสรรหาและยกย่องแล้วทั้งหมด ๙ รุ่น จำนวน ๕๐๓ คน ใน ๙ ด้าน ได้แก่ ด้านเกษตรกรรม ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม ด้านการแพทย์แผนไทย ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน ด้านศิลปกรรม ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี และด้านโภชนาการ
บทบาทของครูภูมิปัญญาไทย ได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็น “ต้นแบบ” ของปราชญ์ชาวบ้าน/ปราชญ์ท้องถิ่นที่มีองค์ความรู้ซึ่งเป็นรากฐานของความเป็นไทย และเป็นความรู้ที่พัฒนาคน พัฒนาการศึกษา และพัฒนาชาติอย่างแท้จริง การสรรหาและยกย่องครูภูมิปัญญาไทยของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษานับว่าเป็น “ต้นแบบ” ของการให้ความสำคัญและยกย่องปราชญ์ชาวบ้าน/ปราชญ์ท้องถิ่น และนับว่าเป็นการกระตุ้นให้วงการศึกษาหันกลับมาให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาไทยอันเป็นมรดกที่สืบทอดมาอย่างยาวนานจากบรรพบุรุษไทย “ครูภูมิปัญญาไทย” ในประเทศไทยยังคงมีอยู่เป็นจำนวนมากซึ่งทำงานอย่างเสียสละและพึ่งตนเองได้อย่างมั่นคง ทั้งยังเป็นที่พึ่งของชุมชมและสังคม “ครูภูมิปัญญาไทย” จึงนับเป็นกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” อันเป็นองค์ความรู้และภูมิปัญญาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานให้ด้วยความมุ่งหมายที่จะพัฒนาป้องกันหรือแก้ไขปัญหา เพื่อประโยชน์สุขแก่เหล่าพสกนิกรให้อยู่ดี กินดี ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และส่งผลถึงมนุษยชาติทั้งปวงให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคง สันติสุขและยั่งยืน