รายละเอียดครูภูมิปัญญาไทย

ครูภูมิปัญญาไทย

นายประพนธ์ พลอยพุ่ม

ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี

ประเพณีวิถีชีวิตของไทดำ (ไทซงดำ)

ผลงาน

องค์ความรู้ ครูประพนธ์ พลอยพุ่ม มีองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรม ประเพณี และประวัติศาสตร์อย่างดี จากคุณตาซึ่งเป็นผู้มีความรู้กว้างขวาง และจากการศึกษาด้วยตนเองจากตำรับตำราต่าง ๆ โดยเฉพาะองค์ความรู้ต่าง ๆ ในด้านท้องถิ่นอีสาน และองค์ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรม ประเพณี วรรณคดี และความเชื่อของชาว “ไทดำ” เนื่องจากมีโอกาสสัมผัสกับชาวไทดำตั้งแต่เยาว์วัยและได้มีโอกาสใกล้ชิดผูกพันเป็น “เสี่ยว” กับลูกชายของหัวหน้าเผ่าชาวไทดำ ประกอบกับการทำงานดำรงชีพและการตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดเลย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของภรรยา ส่งผลให้ครูประพนธ์มีความเข้าใจในวัฒนธรรมของไทดำอย่างลุ่มลึก ในปีพ.ศ.๒๕๓๗ ครูประพนธ์รับตำแหน่งประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเลย จึงพยายามส่งเสริมผลักดันให้ไทดำที่บ้านนาป่าหนาด ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีต้นทุนทางสังคมสูง มีความสมัครสมานสามัคคี มีความกลมเกลียวและสามารถรักษาวัฒนธรรม ประเพณี สำเนียงภาษาและการแต่งกายไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ให้มีการตั้ง “ศูนย์วัฒนธรรมไทดำนาป่าหนาด” ขึ้นเป็นแห่งแรกได้สำเร็จ เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๙ นอกจากนี้ ครูประพนธ์ได้ริเริ่ม ส่งเสริมให้มีการฟื้นฟูวัฒนธรรม ประเพณี และการละเล่นต่าง ๆ ของไทดำให้กลับมามีความเข้มแข็ง คงอยู่เป็นที่รู้จักของเยาวชนรุ่นหลัง จัดทำแผนที่ชุมชนโบราณและแหล่งประวัติศาสตร์ จนนับได้ว่า “ศูนย์วัฒนธรรมไทดำนาป่าหนาด” เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านปรัชญา ศาสนา ประเพณีไทดำ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงมานุษยวิทยาที่สมบูรณ์ยิ่งแห่งหนึ่งในประเทศไทย ส่งผลให้วัฒนธรรม “ไทดำ” มีการสืบสานและได้รับการยอมรับและสนใจจากสังคม สามารถสืบต่อให้เป็นมรดกอันน่าภาคภูมิใจไปในรุ่นลูกหลาน ผลงานโดดเด่น ครูประพนธ์ พลอยพุ่ม ได้ช่วยติดต่อประสานงานกับหน่วยงานทุกฝ่ายในการขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียนมหาไถ่ศึกษาเลย จนสำเร็จ นอกจากนี้ครูบุญเกิดยังได้จัดทำแผนที่จังหวัดเลยระดับอำเภอและจังหวัด แผนที่ชุมชนโบราณในจังหวัด แผนที่แหล่งโบราณสถานและโบราณวัตถุ และแผนที่วัฒนธรรมในการเลือกตั้ง เพื่อเป็นสื่อในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ การเป็นวิทยากรบรรยายทั้งในชุมชน ในจังหวัดและต่างจังหวัด จัดรายการวิทยุหลายรายการและหลายคลื่นเผยแพร่ในจังหวัดเลยและจังหวัดใกล้เคียง สัปดาห์ละ ๔ วัน ซึ่งเป็นรายการที่มีคนรับฟังอย่างแพร่หลายในนาม “ลุงเขียวไขข่าว” และท่านยังเป็นวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของจังหวัดเลย

ที่อยู่

๑๑๕ ถนนเลย-ด่านซ้าย ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย ไปรษณีย์ ๔๒๐๐๐

<< ย้อนกลับ