รายละเอียดครูภูมิปัญญาไทย

นายพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา
ด้านภาษาและวรรณกรรม
การประพันธ์เพลง
ผลงาน
องค์ความรู้ ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา มีองค์ความรู้ ภูมิปัญญาที่เกิดจากการสั่งสม ศึกษาค้นคว้าด้วยการอ่าน การคิดประดิษฐ์รังสรรค์ แล้วประพันธ์เป็นงานแต่งเพลง และงานบทภาพยนตร์ ซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว แบบอย่างในการแต่งเพลงครูพงษ์ศักดิ์ เป็นนักแต่งเพลงที่เขียนขึ้นด้วยใจรักงานศิลปะอย่างแท้จริง จึงได้สร้างสรรค์งานเพลงอย่างมีความสุขและมีอุดมการณ์ ผลงานโดดเด่น ลักษณะงานประพันธ์เพลงของครูพงษ์ศักดิ์ ที่ควรถือเป็นแบบอย่าง ดังนี้ ๑. ใช้ภาษากวีที่ไพเราะ เพราะสัมผัสถูกต้องตามฉันทลักษณ์ ทั้งสัมผัสนอกสัมผัสใน และการสัมผัสสระ สัมผัสพยัญชนะ จึงทำให้บทเพลงมีความไพเราะสละสลวย เช่น “ฝากรักฝากใจให้จำ ดั่งลำน้ำโขงกอดมูล” (จากเพลงฟ้าสางที่ฝั่งโขง) ๒. ใช้ภาษาสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตชาวนาอีสานได้อย่างแจ่มชัด เช่น “รีบรุดไถฮุดนารีบนำฟ้าฟ้าวนำฝน” (จากเพลงอีสานบ้านของเฮา) ๓. ใช้ภาษาถิ่นอีสาน บรรยายให้ผู้ฟังรู้จักชื่ออาหารพื้นเมืองของคนอีสาน เช่น แกงหน่อไม้ใส่จุดจี่น้อย, แกงดอกผักติ้วใส่กับเขียดน้อย, อ่อมเอี่ยนใส่ผักกะออม (แกงอ่อมปลาไหล) ป่นปลา, อ่อมปลา ฯลฯ โดยบรรยายให้ผู้ฟังรู้จักชื่อดอกไม้พื้นถิ่นของอีสาน เช่น ดอกดู่, ดอกจาน, ดอกกากะเลา, ดอกซาด, ดอกสะแบง, ดอกอินถวา, ดอกขูลู, ดอกนางอั้ว, ดอกสะเลเต, ดอกคูน, ดอกกะยอม ฯลฯ ๔. มีเนื้อหาสาระให้ผู้ฟังรู้ถึงสภาพภูมิศาสตร์ เช่น เพลงสาวชุมแพ มีเนื้อเพลงบางตอนว่า “ชุมแพพลเมืองหนาแน่น ดินแดนต่อแคว้นภูเวียง ภูเขียวอยู่ทิศเฉียง ๆ ติดข้างเมียง (เมือง) เกษตรสมบูรณ์” ๕. เป็นบทเพลงที่ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้แก่เยาวชน ๖. เป็นบทเพลงที่เป็นสื่อให้พุทธศาสนิกชนเข้าใกล้พระพุทธศาสนา เช่นเพลงชุด “พร่างพร้อยเพลงพระธรรม” ขับร้องโดย ชินกร ไกรลาส, ศิรินทรา นิยากร, ณัฐสุดา จันทนยิ่งยง, แหวง กูปรี โยนก นาคพันธ์
ที่อยู่
270 ม.2 ตำบลเอือดใหญ่ อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี ไปรษณีย์ 34250