รายละเอียดครูภูมิปัญญาไทย

ครูภูมิปัญญาไทย

พระครูพิพิธประชานาถ (หลวงพ่อนาน)

ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน

กองทุนและธุรกิจชุมชน

ผลงาน

องค์ความรู้ พระครูพิพิธประชานาถ มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการ “พัฒนาคน” ไม่มุ่งเน้นเรื่องเงินทุน ท่านเห็นว่าในการแก้ปัญหาหรือการพัฒนาคนนั้น ถ้าเอาเงินหรือเอาของไปให้โดยไม่พัฒนาคนเท่าไหร่ ๆ ก็แก้ปัญหาไม่ได้ ถ้าพัฒนาคนแล้วถึงไม่มีเงินก็แก้ปัญหาได้ดีขึ้น ยิ่งถ้าพัฒนาคนด้วย มีเงินด้วยก็แก้ปัญหาได้ดีขึ้น ท่านจึงเริ่มจากพัฒนาคนก่อนทุกครั้งไป จากนั้นจึงใช้กิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสอนและสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ประชาชนในชุมชน ผลงานโดดเด่น พระครูพิพิธประชานาถ เป็นผู้ตั้งสหบาลข้าว มีจุดมุ่งหมายที่จะตัดวงจรหนี้สินของชาวบ้านที่สำคัญที่สุดนั่นคือ การเป็นหนี้ในฤดูกาลผลิตใหม่ หรือช่วงหน้านาใหม่ที่ต้องลงทุนซื้อพันธุ์ข้าว ซื้อปุ๋ย น้ำมัน แรงงาน และไม่มีข้าวกินทั้ง ๆ ที่ปลูกข้าว ต้องไปกู้ยืมทั้งเงิน ทั้งปุ๋ยในอัตราดอกเบี้ยสูง พอเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ขายข้าวแล้ว ต้องนำเงินไปใช้หนี้เกือบหมด เมื่อเริ่มฤดูเก็บเกี่ยวใหม่ก็พบกับปัญหาไม่มีเงิน ไม่มีข้าวกิน เป็นปัญหางูกินหางเรื่อยไป สหบาลข้าวจะมีสมาชิกเป็นชาวบ้านที่ถือหุ้น ๑ หุ้นเท่ากับข้าว ๕ ถัง มียุ้งมีฉางเก็บข้าวอยู่ในวัด สมาชิกที่ขาดแคลนข้าวสามารถขอกู้ยืมข้าวไปได้ จ่ายดอกเบี้ย ๑ ถัง ต่อข้าว ๕ ถังที่กู้ยืมไปในหนึ่งฤดูกาลผลิต คนมีฐานะดีต้องเสียสละเหมือนการทำบุญ ซึ่งคนที่ไม่ลำบากก็เต็มใจ เพราะเห็นผลบุญทันตา คนยากจนมีความสุข ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินจ่ายดอกเบี้ยแพง ๆ ต่อมายังได้พัฒนาเป็น “สหบาลกระบือ” “สหบาลคน” ซึ่งล้วนแต่เป็นการรวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันทั้งด้านแรงงานและความคิด หลังจากกระบวนการพัฒนาคนแล้ว ท่านสอนให้ ๑. ปรับจิตใจของคนให้เป็นกลาง สร้างจิตสำนึกให้เกิดแก่สมาชิกของกองทุน ๒. ทำ “คน” ให้เป็น “มนุษย์” โดย ๒.๑ ต้องทำตัวเป็นแบบอย่างแก่คนและคนรุ่นหลัง ๒.๒ การทำตัวให้เป็นอินทรีย์ คือ ๑ คน เราให้เอาศีล ๕ ศีล ๘ มาไถคราดเปรียบเสมือนการ ทำนา การฝึกสมาธิภาวนาทำให้จิตสงบนิ่งไม่มีเขาไม่มีเราทุกคนเป็นคนหมือนกันหมด ๓. คราด คือการปรับจิตปรับใจ โดยการทำสมาธิ วิปัสสนา กรรมฐาน ๔. ถอน คือ การปล่อยวาง ไม่ว่าผลออกมาจะเป็นอย่างไร ให้พิจารณาด้วยปัญญา

ที่อยู่

วัดสามัคคี ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ไปรษณีย์ ๓๒๐๐๐

<< ย้อนกลับ