รายละเอียดครูภูมิปัญญาไทย

นายประหัส มันตะ
ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี
ปรัชญา ศาสนา และประเพณี
ผลงาน
องค์ความรู้ ครูประหัส มันตะ มีองค์ความรู้และภูมิปัญญาด้านปรัชญา ศาสนาและประเพณี ที่เกิดจากการบ่มเพาะด้านวรรณกรรมอีสาน จากบุคคลครอบครัวและเครือญาติที่ได้นำเอาหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนามาถ่ายทอด ศึกษา ค้นคว้า พัฒนามาเป็นการเขียนวรรณกรรมด้วยตนเอง สร้างสรรค์สื่อด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณีประเภท ต่าง ๆ เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ บทวิทยุกระจายเสียง บทโทรทัศน์ บทวีดิทัศน์ ริเริ่มสร้างกิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ได้แก่ การรำนมัสการพระธาตุพนม ในงานประเพณีสำคัญของท้องถิ่นเป็นการสร้างศรัทธาต่อองค์พระธาตุพนม ผลงานโดดเด่น ขณะรับราชการครูประหัส มันตะมีโอกาสร่วมรับผิดชอบกิจกรรมทำงานให้กับท้องถิ่นคือ งานนมัสการองค์พระธาตุพนม มีการจัดงาน ๗ วัน ๗ คืน โดยมีกรมศิลปากรจัดการแสดง ครูประหัสร่วมกับคณะริเริ่ม ประดิษฐ์คิดค้นการแสดงพื้นบ้าน คือ การรำบูชาพระธาตุพนม ใช้ในการแสดงเปิดงานนมัสการไหว้พระธาตุพนมเป็นประจำทุกปีมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาได้พัฒนามาเป็นการแสดงชุดต่าง ๆ เช่น รำนครพนมรำลึก รำไต้ร่มเงาองค์พระธาตุ รำเข็นฝ้าย รวบรวมเป็นชุดการแสดง และก่อตั้งวงดนตรีพื้นเมืองศรีโคตรบูรณ์ ที่มีเอกลักษณ์การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ครูประหัส ได้เขียนหนังสือเผยแพร่ เช่น ประวัติพระธาตุพนม ประวัติบุญเดือน ๓, มุขปาฐะ ๑ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น, ๖๐ ปีพลาดไป ประหัส ให้อะไรตอบแทนไว้ที่ธาตุพนม, มุขปาฐะ ๓ เรียนรู้จากเรื่องเล่า, ประวัติการตั้งถิ่นฐานชาวธาตุพนม, บทละครวิวิธทัศนา เรื่อง รอข้าเท่าใดตะวันจะหวนกลับ (ได้รางวัลเหรียญทอง), บทละครประวัติศาสตร์ พระธาตุพนมมหาเจดีย์ ๓ ฝั่งโขง (ชนะเลิศ สพฐ.) และฮีตสิบสิง คองสิบสี่ ของดีศูนย์ศิลปวัฒนธรรมรัตนโมลีศรีโคตรบูร
ที่อยู่
๑๘๙ หมู่ที่ ๖ ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ไปรษณีย์ ๔๘๑๑๐