รายละเอียดครูภูมิปัญญาไทย

นายชุบ กล่อมจิตต์
ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี
วิถีบ้านแพ้ว
ผลงาน
องค์ความรู้ ครูชุบ กล่อมจิตต์ ได้บรรพชาเป็นสามเณร ด้วยความที่เป็นคนหัวไว เรียนรู้เร็ว ศึกษาเล่าเรียนและสอบนักธรรมได้ตามลำ ดับชั้น จึงทำให้บังเกิดความยินดีบรรพชาต่อไม่ลาสิกขา และประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในคำสอนของพระอุปัชฌาย์อาจารย์ตลอดทั้งพระภิกษุที่ร่วมในอาราม จนอายุครบบวชจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในปีพ.ศ.๒๔๙๓ เป็นต้นมา ช่วงที่ท่านมาเป็นเจ้าอาวาสวัดยกกระบัตรนั้น ชุมชนชาวบ้านบริเวณ ตำบลยกกระบัตร ด้อยทางการพัฒนาทุกทาง ส่วนมากยึดอาชีพตัดฟืนขาย รายได้ไม่มาก มีความเป็นอยู่แบบแร้นแค้น เต็มไปด้วยนักเลงหัวไม้ชอบมั่วสุมกินเหล้า เล่นการพนัน ทำให้เกิดความคิดที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น ให้หันมาประกอบอาชีพเป็นหลักเป็นแหล่ง เหมือนอย่างชาวเมืองแม่กลอง ที่มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีมีความมั่งคั่ง ท่านจึงได้ชักชวนชาวบ้านให้เดินทางไปกับท่าน ไปเรียนรู้ดูความเป็นอยู่แบบคนแม่กลองที่ชอบทำสวนมะพร้าว เอามาทำน้ำตาล และทำสวนปลูกผลไม้แบบยกร่อง และใช้ชีวิตอยู่อย่างพอเพียงสมแก่ฐานะ ท่านก็ใช้ทั้งหลักธรรมทางศาสนา ปรัชญาและประเพณีปฏิบัติเป็นเครื่องโน้มน้าวใจคนในพื้นที่ให้มาร่วมกันทดลองทำกันในพื้นที่วัดที่ท่านยกให้ทำเป็นตัวอย่าง จนชาวบ้านมีรายได้ดีขึ้นเกือบทั้งหมู่บ้าน ผลงานโดดเด่น ครูชุบ กล่อมจิตต์ ในช่วงที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดยกกระบัตรได้ชี้นำและทำเป็นตัวอย่างให้เห็น ท่านจะใช้โอกาสในวันสำคัญทางศาสนาที่คนมาทำบุญที่วัดกันมาก ๆ แสดงธรรมเทศนาที่แฝงไปด้วยธรรมะ หลักวิธีครองตนและการประกอบสัมมาชีพ เป็นเครื่องมือ แต่เดิมในพื้นที่ยังไม่มีไฟฟ้าเข้าถึงท่านจึงได้ไปเจรจาหารือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ให้พัฒนาขยายเขตการจ่ายไฟ เข้าไปยังพื้นที่ แต่เนื่องจากสมัยนั้นงบประมาณค่าจ้างแรงงานมีน้อย ท่านจึงเกณฑ์ชาวบ้านให้มาร่วมแรงร่วมใจกันปักเสา เพื่อพาดสายไฟเข้าหมู่บ้านได้สำเร็จ ทั้งยังได้ชักชวนชาวบ้านให้มาร่วมใจกัน สละเงินซื้อวัสดุก่อสร้างร่วมแรงกันสร้างโรงเรียน เพื่อให้ลูกหลานในท้องถิ่นได้มีอาคารเรียนไว้ใช้เรียนหนังสือโดยไม่ต้องพึ่งศาลาวัดจนสำเร็จ และพัฒนาต่อมาจนเป็นโรงเรียนที่เปิดสอนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ จนทุกวันนี้ เมื่อท่านได้ลาสิกขาจากเพศบรรพชิต แต่ท่านก็ยังคงปฏิบัติภารกิจดำเนินการพัฒนาร่วมกับภาครัฐ และองค์กรต่าง ๆ เพื่อชุมชนยกกระบัตร โดยท่านได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลบ้านแพ้ว พัฒนาการการบริหารจัดการโรงพยาบาลจนเป็นผลสำเร็จอย่างดี มีการจัดให้มีการรักษาแบบครอบคลุม โดยใช้เงินค่ารักษาแต่เพียงเล็กน้อย ซึ่งต่อมาได้รับการพัฒนา และยกระดับให้เป็นต้นแบบของการบริหารงานโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ
ที่อยู่
๘๐/๒ หมู่ที่ ๔ ตำบลเชิงเนิน อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ไปรษณีย์ 21000