ครูภูมิปัญญาไทย
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้กำหนดให้กระบวนการเรียนรู้ต้องส่งเสริม ศิลปะ วัฒนธรรม การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ และการบูรณาการในเรื่องศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทย การประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาทั้งยังกำหนดให้มีการนำประสบการณ์ ความรอบรู้ ความชำนาญ และภูมิปัญญาท้องถิ่นของบุคคลดังกล่าวมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการศึกษา ยกย่อง เชิดชู ผู้ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาไว้ด้วย นั้น
เพื่อให้มีการนำองค์ความรู้เรื่องภูมิปัญญาไทยเข้าสู่ระบบการศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย รวมทั้งเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติครูภูมิปัญญาไทย สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมกิจกรรมเรียนรู้ครูภูมิปัญญาไทยขึ้นเพื่อดำเนินการสรรหาบุคคลผู้ทรงภูมิปัญญา ยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นครูภูมิปัญญาไทยขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นต้นมา และเพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องการส่งเสริมภูมิปัญญาไทยในการจัดการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจึงได้จัดทำนโยบายส่งเสริมภูมิปัญญาไทยในการจัดการศึกษา นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๒
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาให้ความหมายของภูมิปัญญาไทยไว้ว่า “ภูมิปัญญาไทย” หมายถึง องค์ความรู้ ความสามารถและทักษะของคนไทย อันเกิดจาก การสั่งสมประสบการณ์ที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ เลือกสรร ปรุงแต่ง พัฒนาและถ่ายทอด สืบต่อกันมา เพื่อใช้แก้ปัญหาและพัฒนาวิถีชีวิตของคนไทยให้สมดุลกับสภาพแวดล้อมและเหมาะสมกับยุคสมัยแบ่งออกเป็น ๙ ด้าน ดังนี้ (๑) ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน (๒) ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (๓) ด้านการแพทย์แผนไทย (๔) ด้านเกษตรกรรม (๕) ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี (๖) ด้านภาษาและวรรณกรรม (๗) ด้านโภชนาการ (๘) ด้านศิลปกรรม (๙) ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม ซึ่งภูมิปัญญาไทย มีลักษณะเป็นองค์รวมและมีคุณค่าทางวัฒนธรรมซึ่งเกิดขึ้นในวิถีชีวิตของคนไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นองค์ความรู้สำคัญเพราะเป็นที่มาขององค์ความรู้ที่เจริญงอกงามขึ้นใหม่ที่จะช่วยในการเรียนรู้ การแก้ปัญหาการจัดการและการปรับตัวในการดำเนินวิธีชีวิตของคนไทย
“ครูภูมิปัญญาไทย” หมายถึง บุคคลผู้ทรงภูมิปัญญาด้านหนึ่งด้านใดซึ่งเป็นผู้สร้างสรรค์และ สืบสาน ภูมิปัญญามาอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ยอมรับของสังคม/ชุมชน และได้รับการยกย่องให้เป็น "ครูภูมิปัญญาไทย" เพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาในการจัดการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ตามนัยแห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๔๒ ซึ่งองค์ประกอบของครู ภูมิปัญญาไทย พิจารณาจาก “ความเป็นครู” หมายถึง มีลูกศิษย์มาเรียน และถ่ายทอดองค์ความรู้ไม่น้อยกว่า ๕ ปี และพิจารณาจากภูมิ ๓ ประการได้แก่
(๑) ภูมิรู้ หมายถึง มีองค์ความรู้เป็นของตนเองหรือต่อยอดมาจากบิดามารดา ครูอาจารย์ มีความสามารถเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ชัดเจนในองค์ความรู้
(๒) ภูมิธรรม หมายถึง มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่คนในชุมชน สังคม และประเทศ
(๓) ภูมิปัญญา หมายถึง สามารถนำความรู้มาแก้ไขปัญหาตนเอง ชุมชน สังคม

ลักษณะของเข็มเชิดชูเกียรติครูภูมิปัญญาไทย
มีลักษณะเป็นช่อลายกระจังตาอ้อย ๙ ช่อ ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์แทนขอบข่ายภูมิปัญญาไทย ๙ ด้าน ประกอบด้วยข้อความ “ครูภูมิปัญญาไทย” ที่ทำด้วยเงินบริสุทธิ์ และเกสรทั้ง ๙ ช่อ ทำด้วยทองคำแท้ความหมาย
หมายถึง ความเป็นผู้ทรงภูมิปัญญาของครูภูมิปัญญาไทยด้านใดด้านหนึ่งใน ๙ ด้าน ได้แก่ (๑) ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน (๒) ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (๓) ด้านการแพทย์แผนไทย (๔) ด้านเกษตรกรรม (๕) ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี (๖) ด้านภาษาและวรรณกรรม (๗) ด้านโภชนาการ (๘) ด้านศิลปกรรม (๙) ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม
ผู้ออกแบบ
นายนนทิวรรธน์ จันทนะผลิน อาจารย์ภาควิชาประติมากรรม คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร